กระจกขอบทอง เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของตระกูลช่างทำทองในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 จากรุ่นสู่รุ่น ที่โลดแล่นตามเส้นทางที่บรรพบุรุษได้วางไว้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งลิขิตวิถีชีวิตตนเองโดยไม่ยอมแพ้ความทุกข์หรือท้อถอยต่อโชคชะตา กฤษณา อโศกสิน ได้แสดงสัญญะผ่าน “กระจก” ให้ตัวละครเอกเข้าใจและตระหนักรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาแต่ละช่วงชีวิตทีละมิติ ดังนี้

มิติแรก ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อมองกระจก สิ่งที่สะท้อนออกมาคือเงาของตัวตนที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของบรรพบุรุษ

มิติที่สอง เงาสะท้อนย่อมมีทั้งความงามและความบกพร่อง ทำให้แยกแยะได้ว่าควรจะเก็บอะไรไว้ หรือทิ้งอะไรไป ความเข้าใจนี้ทำให้เห็นปุถุชนวิสัยของบรรพบุรุษที่มีทั้งดีและร้าย

มิติที่สาม การสั่งสมเกียรติยศและคุณงามความดีของบรรพบุรุษเปรียบเสมือนขอบทองของกระจกกระจกอาจหมองไปตามกาลเวลา จึงต้องหมั่นเพียรเช็ดถูรอยด่างดำที่กระจกและปิดทองที่ขอบเพื่อส่งมอบกระจกขอบทองเป็นสมบัติให้ลูกหลานรักษาสืบไป

นอกจากสะท้อนความหมายของการดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจและยอมรับข้อบกพร่องต่าง ๆ แล้ว  ยังแสดงให้เห็นความองอาจและเด็ดเดี่ยวของมนุษย์ที่ใช้คุณธรรมกำกับนำพาชีวิตไปสู่ทิศทางที่ดีได้

คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยาย จึงมีมติให้ กระจกขอบทอง ของ กฤษณา อโศกสิน สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ  ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2560