การเวกครวญ กวีนิพนธ์ของ พันดา  ธรรมดา  เป็นรวมบทกวีที่แต่งด้วยคำประพันธ์ที่ผู้แต่งเรียกว่า “กลอนด้น” หมายถึงกลอนที่ใช้ในการขับโนราหรือการเล่นหนังตะลุง เป็นกลอนแปดที่ไม่ได้เคร่งครัดจังหวะและสัมผัสในแบบสุนทรภู่  เนื้อหานำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตในบ้านเกิดท้องถิ่นใต้ ศิลปะการแสดงโนรา ชีวิตในครอบครัว  วิถีชิวิตพื้นถิ่น ประเพณีที่มีพุทธศาสนาเป็นแนวทางและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติรวมทั้งบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นใต้ในสังคมร่วมสมัย

ด้านศิลปะการประพันธ์มีความโดดเด่นด้วยการประสานศิลป์ ใช้ท่วงทำนองของศิลปะการแสดงโนรามานำเสนอในรูปแบบกวีนิพนธ์อย่างมีชั้นเชิงทางศิลปะ การใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบท่วงทำนองของเนื้อหาแต่ละตอนเหมือนเสียงขับขานและลีลาของนกที่มีในพื้นถิ่น โดยตั้งชื่อแต่ละภาคว่า การเวกครวญ กาเหว่าหวน วิมานสาลิกาและน้ำตานกเปล้า ใช้ท่วงทำนองการเล่าเรื่องเหมือนการขับขานโนรา แสดงถึงศักยภาพในการผสมผสานขนบการแสดงพื้นบ้านกับเรื่องเล่าในท้องถิ่นได้อย่างมีวรรณศิลป์ แสดงให้เห็นภูมิธรรมแห่งพื้นถิ่นด้วยความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตน

คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลยกย่องการสืบสานขนบวรรณศิลป์ท้องถิ่น ให้  พันดา  ธรรมดา  ผู้ประพันธ์ การเวกครวญ เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่องชมเชยความวิริยะอุตสาหะในการสืบสานภาษาและขนบวรรณศิลป์พื้นถิ่นของไทย