รวมกวีนิพนธ์ เหมือนหนึ่งมนุษย์มีเลือดคนละสี ของ ธาร ธรรมโฆษณ์ นำเสนอเรื่องราวของมนุษยโลกที่มีความขัดแย้งเข่นฆ่ากันนำไปสู่สงครามด้วยมายาคติที่เห็นว่าเป็นวีรกรรม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยร่วมสมัยที่มีทั้งความขัดแย้งทางการเมืองและความรุนแรงในภาคใต้  เนื้อหาแบ่งเป็นสองตอนคือ เหมือนหนึ่งมนุษย์และมีเลือดคนละสี

ด้านกลวิธีการประพันธ์ รวมบทกวีเรื่องนี้มีความโดดเด่นที่นำรูปแบบกวีนิพนธ์พื้นบ้านคือเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้มาเรียงร้อยเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่สืบเนื่องสัมพันธ์กัน  ในแต่ละบทจะยกเพลงกล่อมเด็กพื้นบ้านขึ้นต้นและตามด้วยบทกลอนที่เชื่อมโยงเนื้อหาในเพลงกล่อมเด็กมาสู่เหตุการณ์ในสังคมไทยร่วมสมัยและจบบทด้วยการให้แง่คิด ทัศนะที่        เฉียบคม เป็นกลวิธีการประพันธ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่สามารถสืบสานมรดกวัฒนธรรม   ทางวรรณศิลป์ที่เป็นมุขปาฐะมาถ่ายทอดประยุกต์  เนื้อหาให้เล่าเรื่องร่วมสมัยและยังให้ทางออกของความขัดแย้งต่าง ๆ ด้วยแนวคิดทางพุทธศาสนาโดยการลงจบด้วยบท  “แผ่เมตตา”