ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต ของ ไพวรินทร์ ขาวงาม เป็นรวมบทกวีที่นำเสนอภาพของสังคมอีสานในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปทุกระดับ ทั้งระดับสังคมโดยรวมและระดับวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคล นโยบายของภาครัฐที่ยังคนเป็นว่าอีสานเป็นดินแดนด้อยพัฒนาและแห้งแล้ง จึงนำเสนอนโยบายเปลี่ยนแปลงทุ่งกุลาร้องไห้เป็นอุตสาหกรรม เป็นดินแดนกาสิโนและสวนสนุกหรือให้เป็นที่นำขยะของเมืองมาทิ้ง ผู้ประพันธ์ให้ความสำคัญกับชาวนา ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ทำนาหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งแผ่นดิน แต่วิถีชีวิตของชาวนาต้องยากลำบากและระทมขมขื่น สภาพท้องนาที่เคยอุดมและเป็นที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิตนั้น บัดนี้แปรเปลี่ยนจนแม่โพสพก็ไม่อาจสถิตอยู่ได้

ด้านวิถีชีวิต หนุ่มที่เคยมุ่งเข้าเมืองเพื่อคามหวังไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า มาบัดนี้ พิษของสังคมทุนนิยมและเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้รัฐส่งเสริมนโยบายกลับสู่ชนบท แต่เมื่อกลับไปสภาพสังคมก็ไม่เหมือนเดิมเพราะนโยบายการ “พัฒนา” สังคมเกษตรกรรมของอีสานให้กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ส่วนสาวอีสานยุคโลกาภิวัฒนามุ่งแต่งงานกับชาวต่างชาติเพื่อยกระดับฐานะของตนเองและครอบครัว หมู่บ้านและบ้านอีสานในวันนี้ ผู้ประพันธ์รู้สึกราวกับว่า “ไม่มีบ้านให้กลับ” ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต  ไม่เพียงให้ภาพสังคมอีสานที่แปรเปลี่ยนในภาพกว้าง แต่ยังคงเน้นการพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกภายในของผู้คนที่รักในท้องถิ่นของตนแต่ต้องขื่นชมกับวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนได้อย่างร้าวลึกสะเทือนอารมณ์

ในด้านศิลปะการประพันธ์ ด้วยลีลาที่รื่นไหลและหลากหลาย บทกวีของไพวรินทร์มีเสน่ห์ของสีสันท้องถิ่น การผสมผสานท่วงทำนองของกลอนแบบฉบับกับรูปแบบฉันทลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ผญาและภาษาถิ่นทำให้เกิดท่วงทำนองเฉพาะตนที่สามารถให้ภาพวิถีชีวิตจิตใจและอารมณ์ของผู้คนอีสานได้อย่างเรียบง่าย แต่คมคาย ลุ่มลึกและกินใจ