หัวใจห้องที่ห้าของ อังคาร จันทาทิพย์ รวมบทกวี 46 บทเรื่อง แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคแรก หัวใจห้องที่ห้า และภาคหลัง นิทานเดินทาง ในภาคแรก หัวใจห้องที่ห้าที่หมายถึง “ดวงใจใฝ่ฝันสันติสุข” ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องราวของสังคมไทยในมิติต่าง ๆ เริ่มจากอดีตจนเกิดความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันซึ่งดูจะเป็นวิวัฒนาการที่โลกและมนุษย์อาจไม่ได้ดีกว่าเดิมเพราะสังคมยังเต็มไปด้วยปัญหา ความขัดแย้งและความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ และที่สำคัญคือคลื่นความขัดแย้งในสังคมที่ทำให้เกิดความแบ่งแยกแตกต่างของผู้คน
ในภาคหลัง นิทานเดินทาง ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องเล่าและวิถีชีวิตของกลุ่มชนในบริบทต่าง ๆ ของสังคมไทย ทั้งตำนานแม่น้ำโขงในภาคอีสาน คนไร้บ้านในเมืองหลวง ชนกลุ่มน้อย เช่น มอญ กะเหรียงคอยาวและคนไร้สัญชาติโดยเชื่อมโยงเรื่องเล่าในอดีตกับวิถีชีวิตในปัจจุบันซึ่งล้วนระทมทุกข์และต้องต่อสู้ดิ้นรนในสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยม นิทานเดินทางของผู้คนหลากหลายคือนิทานชีวิตที่ยังคงต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดชีวิต
ด้านกลวิธีการประพันธ์ ใช้กลอนสุภาพเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้มีโคลงสี่สุภาพและกาพย์ฉบัง นำเสนอแนวคิดปัญหาสังคมในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้ผู้อ่านฉุกคิด โดยใช้เรื่องเล่าในอดีตเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมในปัจจุบันได้อย่างมีนัยสำคัญ