ศิริวร แก้วกาญจน์ สร้างสรรค์นวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า โดยนำเสนอประเด็นเนื้อหาในระดับมหาภาค นั่นคือการทำล้างเผ่าพันธุ์ที่ผู้มีอำนาจกระทำต่อชนกลุ่มน้อย การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารเพื่อสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย และอำนาจทุนนิยมที่ฉกฉวยประโยชน์ทุกวิธีแม้กระทั่งจุดไฟสงคราม
เรื่องราวของกระเหรี่ยงอพยพหนีทหารพม่าที่ปล้น ฆ่า ข่มขืน บ้านเรือนถูกเผา ครอบครัวกระเจิดกระเจิงพลัดพราก และเรื่องราวของนักศึกษาพม่าที่หลบหนีลี้ภัยจากการกวาดล้างของรัฐบาลทหารมาใช้ชีวิตในค่ายอพยพและเมืองเล็กบริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า รวมทั้งเรื่องราวชองประชาชนพม่าที่ถูกกดขี่รังแกต้องหลบซ่อนในป่าเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศของตนเอง ถูกถ่ายทอดในนวนิยายชื่อยาวนี้ด้วยเทคนิควิธีต่าง ๆ ได้แก่ การเล่าเรื่องตัดสลับไปมาที่ทำให้เวลาเลื่อนไหลอยู่ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน การใช้ภาพเหนือจริง การแทรกตำนานและนิทานพื้นบ้าน เรื่องราวของคนชายขอบ นัยเปรียบเทียบระหว่างความทุกข์เศร้าส่วนตัวกับความทุกข์เศร้าของมนุษยชาติ และการใช้รูปแบบของนวนิยายที่แทรกด้วยบันทึกส่วนตัวของตัวละครผู้เล่าเรื่อง ซึ่งเป็นการสร้างเรื่องเล่าคู่ขนาน 2 เรื่อง เพื่อทำลายนิยามของนวนิยายตามขนบเดิม กลวิธีทางวรรณศิลป์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่มีลักษณะของคตินิยมหลังสมัยใหม่ (post-modernism) อันเป็นพัฒนาการของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย
ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสสตร์ความเศร้าอยู่ที่การสร้างบรรยากาศของความเศร้าที่กัดกินใจของผู้อ่าน แววตาหม่นมัว ใบหน้าโศกหมอง น้ำตาที่ต้องกักกั้นกันไว้ในอกเพื่อไม่ให้ความเศร้าแพร่ออกไปสู่ผู้อื่นเหมือนโรคระบาด ความหวาดกลัว หวั่นระแวง ที่เกาะกุมใจจนแทบไม่อาจควบคุมสติ ลมหายใจแห่งความหม่นหมอง มืดมน มัวซัว สลดหดหู่ ไร้ความหวัง ระบาดอยู่แทบทุกบรรทัด ผู้อ่านจึงได้ซึมซับความรู้สึกสูญเสียของคนที่ถูกปล้นชิงทรัพย์สิน และความเป็นคน และเศร้าสร้อยไปกับความเจ็บปวดของคนพลัดถิ่นที่มี่แผ่นดินใต้ฝ่าเท้าให้เหยียบยืน
นวนิยายเรื่องนี้บอกเราว่า ยิ่งโลกก้าวรุดไปข้างหน้า มนุษย์ก็ยิ่งถอยห่างจากความรัก ความดีงาม ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันซึ่งเคยหลักรากอยู่ในจารีตวัฒนธรรมเก่าแก่มากยิ่งขึ้น
นวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้าจึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2554