นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนภาพชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งชื่อ ชาลี เป็นคนที่มีชีวิตธรรมดา ไร้ความโดดเด่น เรียนไม่เก่ง ทำงานไม่สำคัญ มีคนรักก็เลิกกันไป มีผู้หญิงรับจ้างบำบัดเหงาแต่ก็ไม่มีความหมายอะไร ชาลีมีชีวิตลอย ๆ งง ๆ ไร้เป้าหมาย ประดุจมะพร้าวทะเลทราย แห้งแล้งไร้ชีวิตชีวา คิดฆ่าตัวตายโดยไม่มีเหตุผลถึงสามครั้งแต่ก็ไม่ตาย สุดท้ายพบว่ามีคนชื่อชาลีเหมือนเขาอีกหนึ่งคน แต่เป็นนักเขียน เขาจึงตามหาจนพบ และพบว่าเขาทั้งสองมีประวัติภูมิหลังใกล้เคียงกันมาก เขาเอาปืนไปด้วย สุดท้ายก็มีเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด และชาลีก็เหลือคนเดียว
เรื่องนี้สะท้อนภาวะมนุษย์ที่สวนทางกับมนุษย์แบบฉบับ มนุษย์จะต้องดี เก่ง ประสบความสำเร็จ เป็นคนดีมีความหมายในสังคม แต่ชาลีตรงกันข้าม จืดชืดสนิท ไร้ตัวตน มีลักษณะเป็นตัวเอกแบบปฏิลักษณ์(Anti-hero) ผู้เขียนใช้ท่วงทำนองของการเสียดสีเย้ยหยันชีวิตคนเมือง ใช้สถานการณ์เกินจริง สัญลักษณ์ เพลง และกระบวนการทำซ้ำทางวรรณศิลป์เพื่อตอกย้ำอารมณ์เบื่อและเหงาสู่ตัวละครและคนอ่าน ในขณะเดียวกันก็หยอกล้อตนเองในฐานะนักเขียนไปด้วย ซึ่งภาพคนแบบชาลีนี้คือคนส่วนใหญ่ของสังคมดิจิทัลในปัจจุบัน และการสะท้อนภาพชาลีในฐานะตัวเอกไร้คุณค่านับเป็นความจริงของสังคม และเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งของผู้เขียน
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ แชมเปญจ์น ซูเปอร์โนวา และการฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายของ ชาลี ของ พิชา รัตนานคร ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗