นวนิยายเรื่อง แก่นไม้หอม เป็นการเล่าเรื่องเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ถูกส่งมาจากเมืองจีนเพื่อมาอยู่กับพ่อแม่ที่อพยพมาก่อนแล้ว “ซิ่วเฮียง” จึงมีประสบการณ์ชีวิตที่ขมขื่นกว่าเด็กวัยเดียวกัน ด้วยค่านิยมที่รักลูกชายมากกว่า เมื่อโรงเรียนจีนในเมืองไทยถูกผู้นำในยุคนั้นสั่งปิด เตี่ยกับแม่จึงให้ซิ่วเฮียงออกจากโรงเรียน มีแต่น้องชายและน้องสาวที่ได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนไทย ด้วยความน้อยใจ และอ่อนต่อโลกซิ่วเฮียงในวัย ๑๖ ปี จึงหนีตามคนรักไป เพียงเพื่อจะพบว่าโลกนี้โหดร้ายกว่าที่เธอคิด และเธอถูกตัดขาดจากครอบครัวตั้งแต่บัดนั้น เมื่อเธออุ้มลูกชายกลับบ้านเตี่ยยอมรับเพียงแต่หลานคนเดียว แม้ต่อมาเธอจะประสบความสำเร็จกับครอบครัวใหม่ในฐานะเถ้าแก่เนี้ยคนที่สองได้รับความรักความเมตตาจากสามี ได้รับความเอ็นดูจากเถ้าแก่เนี้ยคนที่หนึ่ง และได้รับความเคารพความรักจากลูกของทั้งสองบ้าน แต่ก็ยังมีร่องรอยหม่นหมองในใจเสมอมา
ผู้ประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงจึงสามารถนำผู้อ่านเข้าไปใกล้ชิดกับชีวิตของซิ่วเฮียง ทั้งในยามสุข และทุกข์ เสมือนหนึ่งได้ร่วมเติบโตทางความคิด ความรู้สึกไปด้วยกัน ทำให้เข้าใจวิธีคิด และมุมมองในการตัดสินใจของเธอ ที่มีความมุ่งมั่น กล้าหาญ ซื่อตรง อ่อนน้อมและกตัญญู แม้ครอบครัวใหญ่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ การเมือง และค่านิยมที่ยากจะเปลี่ยนแปลงในครอบครัวคนจีน แต่ซิ่วเฮียงก็ผ่านมาได้ และพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถเลือกทางเดินชีวิตที่ดีได้ ด้วยความแข็งแกร่งดุจแก่นของต้นไม้ที่ดำรงอยู่ แม้มิอาจมองเห็นจากภายนอกก็ตาม
ด้วยภาษาที่เรียบง่าย ชัดเจน ทว่ากระทบใจในความจริง ผู้อ่านจึงสัมผัสได้ถึงความรัก ความสุข ความทุกข์ ความหวัง และความผิดหวัง เสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน วาระสุดท้ายซิ่วเฮียงจึงจากโลกนี้ไปด้วยความทรงจำของชีวิตที่ได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วนในทุกบทบาทของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง นับเป็นความสุข ความเศร้า และการยอมรับไปพร้อมกัน ตามเจตนารมณ์ที่ผู้ประพันธ์ได้นำเรื่องไปสู่จุดหมายอย่างมั่นคง
“โลกนี้เหมือนผู้ชายเป็นใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนเป็นหยินที่โอบหยางทั้งสิ้น”
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ แก่นไม้หอม ของ กิ่งฉัตร ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗