นวนิยายสะท้อนรากเหง้าของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่เกิดจากความล่มสลายของสถาบันหลักในสังคม ไม่ว่าจะเป็นทหารกดขี่รังแกประชาชน ข้าราชการฉ้อฉลเอาเปรียบ พระสงฆ์ทุศีลที่มัวเมากับราคะ และครูที่ล่อลวงลูกศิษย์ และที่ลึกลงไปในพฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้คือกิเลสตัณหาที่ไม่มีวันจบสิ้น จึงล่อลวงให้มนุษย์เห็นถูกเป็นผิด ผิดเป็นถูก ปัญหาจึงสั่งสมโดยไม่มีวันแก้ไข
ผู้เขียนนำเสนอความเลวร้ายในชุมชนแห่งหนึ่ง ผ่านสายตาและการบอกเล่าของตัวละคร 2 ตัว หนึ่งคือ ไอ้เท่ง ตัวตลกในหนังตะลุง อีกหนึ่งคือลุงส่ง ชายขี้เมาขาพิการ ไอ้เท่งเป็นตัวตลกไร้ชีวิตที่มีเพียงเงาโลดเต้น เป็นเหมือนจิตวิญญาณที่ห่วงใยชาวบ้านชุมชน แต่ เมื่อเป็นเพียงเงา และตัวตลก คำบอกเล่าของไอ้เท่งจึงเหมือนนิยายโกหกที่ไม่มีใครเชื่อ เช่นเดียวกับลุงส่ง คนพิการขี้เมาที่ไม่มีใครเชื่อคำพูด ดังนั้นแม้เขาจะชี้ตัวเจ้าอาวาสทุศีลและครูใหญ่กระหายกามว่าเป็น “ผู้ร้าย” ในชุมชน แต่ทุกคนก็เห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล การเลือกไอ้เท่งและลุงส่งเป็นผู้เล่าเรื่องจึงตอกย้ำการที่ผู้คนปฏิเสธที่จะเข้าถึงความจริง ความเลวร้ายจึงฝังรากลึกต่อไปตราบนานเท่านาน น่าเสียดายที่ผู้เขียนทิ้งตัวละครนี้ไปในตอนท้ายเรื่อง บทจบจึงไม่สวยงามเท่าที่ควร
การเลือกใช้กลวิธีเหนือจริงเพื่อบอกกล่าวความจริงนับเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่โดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้ นอกจากผู้เล่าเรื่อง การสร้างบรรยากาศ และเหตุการณ์อาเพศผิดธรรมชาติแล้ว การให้แม่เฒ่าเปาะเจ๊ะหอนทุกปีเมื่อถึงวันครบรอบการตายของลูกชาย ก็สร้างบรรยากาศลี้ลับชวนสยอง แต่เป็นกลวิธีที่แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านได้ต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยวิธีอหิงสา เสียงหอนของยายเฒ่าเรียกร้องความชอบธรรมให้ลูกชายที่ถูกทหารพรากชีวิตอย่างโหดเหี้ยม เพราะทุกปีผู้คนก็จะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดกันอีกครั้งและอีกครั้ง ความตายของผู้บริสุทธิ์จึงไม่เคยถูกลืม
อย่างไรก็ตาม แม้นวนิยายเรื่องนี้จะแสดงความมืดดำของชีวิต ความเลวร้ายในจิตใจของผู้คน และความจริงที่เป็นเพียงเงาที่จับต้องไม่ได้ แต่ท้ายที่สุด ผู้เขียนก็ยังฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ ที่จะกล้ากบฏต่ออำนาจและมายาคติที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก เพื่อว่าในที่สุดแล้วเราจะมีสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม
นวนิยายเรื่องเล่นเงา ของจิรภัทร อังศุมาลี จึงสมควรรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่น บุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2551