หลังเปิดพินัยกรรมไม่กี่วัน ทายาทคนโตของตระกูลจิระอนันต์ ก็ถูกฆาตกรรมอย่างมีเงื่อนงำ ด้วยน้ำมือของผู้ต้องสงสัยที่น่าจะเป็นใครคนใดคนหนึ่งในตระกูล
ดูเผิน ๆ แล้ว โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในนวนิยายแนวสืบสวน-สอบสวนเรื่อง “เลือดข้นคนจาง” ของ “ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์” ก็ไม่ต่างจากเรื่องราวที่พบเห็นได้ทั่วไปในครอบครัวนักธุรกิจชาวจีนผู้มั่งคั่ง ที่ความโลภและความริษยาระหว่างพี่น้องสายเลือดเดียวกัน นำไปสู่จุดจบที่อื้อฉาวดังปรากฏพาดหัวข่าวอยู่เนือง ๆ
อย่างไรก็ตาม หากพิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ผ่านพื้นที่แต่ละบท ที่ผู้เขียนเปิดโอกาสให้แต่ละตัวละครสะท้อนมุมมอง และระบายความในใจออกมา สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการเปิดเผยตัวฆาตกร คือการค้นพบว่า จารีตแห่งความเหลื่อมล้ำระหว่างชาย-หญิง ต่างหาก ที่เป็นผู้ร้ายตัวจริง ขนบธรรมเนียมซึ่งเปิดโอกาสให้เพศชายผูกขาดอำนาจ มอบอภิสิทธิ์ให้ผู้ชาย–โดยเฉพาะบุตรชาย/หลานชายคนโต สร้างความไม่เท่าเทียมกันอย่างยิ่งยวดระหว่างลูกชายและลูกสาว สิ่งเหล่านี้ถูกบ่มเพาะ ฝังราก ตอกย้ำด้วยพิธีกรรม และส่งผ่านให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า กลายเป็นยาพิษที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ กัดกร่อนสัมพันธภาพ ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ แก่งแย่งแข่งขัน และทำให้ความรักและภราดรภาพระหว่างพี่น้องร่วมสายเลือดมิอาจเกิดขึ้นได้จริง
“หากเรื่องเล่าที่ดี คือเรื่องเล่าที่ทำให้เชื่อขณะอ่าน และเปลี่ยนผู้อ่านเมื่อปิดหน้าสุดท้าย” นวนิยายเรื่องเลือดข้นคนจาง ถือว่าเป็นเรื่องเล่าที่ดียิ่งไปกว่านั้น เพราะสารอันทรงพลัง ที่สอดแทรกผ่านเหตุการณ์และเรื่องราวของตัวละคร ทำให้เมื่อปิดหน้าสุดท้าย ผู้อ่านกล้าฝันถึงการถือกำเนิดขึ้นของยุคใหม่ ยุคที่อคติและความเหลื่อมล้ำทางเพศถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ยุคที่เมล็ดพันธุ์แห่งความรักและความเท่าเทียม ได้รับการปลูกฝังและเบ่งบานในหัวใจของสมาชิกทั้งชายและหญิงโดยตั้งต้นจากพื้นที่ในครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานสำคัญอันดับแรกของสังคม
ด้วยกลวิธีในการประพันธ์ เนื้อหาสาระ และคุณค่าที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “เลือดข้นคนจาง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓