อีกฟากด้านกระดานหก รวมกวีนิพนธ์ของ ศิวกานท์  ปทุมสูติ  จำนวน ๕๖ สำนวน ใช้ฉันทลักษณ์รูปแบบกลอนเป็นหลัก และกลอนเพลงพื้นบ้าน รวมทั้งกาพย์ฉบังบางบท ความโดดเด่นของกวีนิพนธ์เรื่องนี้อยู่ที่ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ผู้ประพันธ์มีความเชี่ยวชาญในการผสมผสานท่วงทำนองหลากหลาย ทั้งลีลาเพลงพื้นบ้านให้เข้ากับเนื้อหาและการใช้ถ้อยคำเข้าใจง่าย ลีลาสนุกสนานแม้จะนำเสนอเรื่องราวที่เป็นปัญหาให้ฉุกคิด ในขณะเดียวกันก็ชำนาญในการนำเสนอเนื้อหาเชิงธรรมะและศัพท์ทางศาสนาที่เป็นประเด็นคำถามเชิงปรัชญา บทกวีแต่ละบทจะมีกลวิธีการเล่าเรื่องแตกต่างกัน เช่น การเล่าเรื่องที่เป็นการตั้งคำถามแบบบทสนทนาเพื่อสื่อแนวคิดสำคัญแบบปุจฉา-วิสัชนา การนำเสนอเป็นเรื่องเล่าที่มีโครงเรื่อง ตัวละครและบทสนทนาง่าย ๆ แต่สื่อแนวคิดที่ลุ่มลึก แสดงถึงชั้นเชิงและความเชี่ยวชาญของผู้ประพันธ์ในการร้อยเรียงบทกวีที่มีเรื่องเล่าหลากหลาย เพื่อสื่อแนวคิดหลักของเล่มว่าหากเราคิดถึงความคิดที่ “อยู่อีกฟากกระดานหก” ซึ่งแตกต่างจากที่เราเคยเชื่อหรือคุ้นชินจะเป็นเช่นไร

ด้านเนื้อหานำเสนอประเด็นปัญหาทั้งระดับประเทศและระดับโลก ความขัดแย้งและปัญหาของสังคมและการเมืองไทย โดยนำเสนอเป็นเรื่องเล่าที่ชวนติดตาม เช่น ในบท “ทางลม ผู้วางดอกไม้จันทน์” ซึ่งนำเสนอบทสนทนาทิศทางทางการเมืองและการขอคะแนนเสียงแม้ในงานศพ สงครามและความขัดแย้งในหลากหลายภูมิภาคของโลก เช่น ในบท “ดวงตาที่สาม เหนือลุ่มชลนากาฬทวีป” ที่นำเสนอว่ามนุษย์ยังคงเข่นฆ่ากันมิรู้จบสิ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะเสนอปัญหาระดับมหภาค ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งคือผู้ประพันธ์นำรูปธรรมจากธรรมชาติเพื่อเสนอเนื้อหาที่หนักแน่นในเชิงมนุษยธรรม เช่น บทสนทนาของแม่ที่สอนให้ลูกปลูกผักในสวนเพื่อจะได้แบ่งปันให้เพื่อนบ้านซึ่งเป็นผู้อพยพ ในบท “แสงไฟในกระท่อม สุขแซมในเดียงสาราตรี” หรือในบท “บ้านในเวลา รังนกมิเคยกุมขังลูกนก” และบท “ทางสองแพร่ง ทางที่ใครไม่เลือก” เป็นต้น

คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ อีกฟากด้านกระดานหก  ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ  ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด  ประเภทกวีนิพนธ์  ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗