อายุขัยของมนุษย์นั้นน้อยนิดนักเมื่อเทียบกับการคงอยู่ของจักรวาล อาจเปรียบได้กับหยาดน้ำค้างที่พร้อมจะระเหยหายไปตามกาลเวลา หากเมื่อมองชีวิตผ่านความทุกข์อันใหญ่หลวงที่กำลังเผชิญอยู่ย่อมยากที่ใครจะคิดเช่นนั้นได้
22 ปีที่นางสายน้ำ นานขวัญใจ ตกอยู่ในสถานะของผู้ต้องหาคดีปลอมแปลงสมบัติของแผ่นดิน แม้จะเชื่อในความสุจริตของตน แต่ไม่มั่นใจกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงชั้นผู้ว่าคดี เพราะฉะนั้นยามที่ต้องขึ้นศาลครั้งแล้วครั้งเล่า เธออยู่ในภาวะที่ถูกกดดันต่อเนื่อง กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดียืดเยื้อยาวนานจนเธอไม่รู้ว่าจะจบลงที่ใด ชมัยภร แสงกระจ่าง ฉายภาพชีวิตของตัวละครที่เคราะห์กรรมถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ฉุดรั้งชีวิตให้ดำดิ่งสู่ห้วงลึกลงทุกที จนเวลาล่วงไป เธอจึงได้คิดแล้วพินิจความทุกข์ รับธรรมะเข้ามาประคองใจ ปลดเปลื้องด้วยการเปิดใจตามดูรู้เท่าทันจิตของตน จนตระหนักได้ว่าความทุกข์ที่มาจาก “คนอื่น” นั้น แท้ที่จริงแม้จะเริ่มจากเหตุปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ แต่ทุกข์นั้นก็ยังดำรงอยู่เพราะใจกักเก็บหล่อเลี้ยงมันไว้
นอกจากการเล่าเรื่องแบบสัจนิยมแล้ว นวนิยายเรื่อง หยาดน้ำค้างพันปี ยังแสดงสัญญะที่ตัวละครหลบเลี้ยงและปฏิเสธความทุกข์ด้วยการปักจิตปักใจกับการปักผ้าระบายแรงกดดันที่กำลังเผชิญผ่านลายปักสีสันเศร้าหมองที่สะท้อนถึงความสิ้นหวัง ภาวะไร้อำนาจและความปรารถนาในอิสรภาพ กองผ้าที่ปักสูงเพียงใดทุกข์ก็ท่วมใจเพียงนั้น จนไม่มีวันออกจากทุกข์ได้ ตราบใดที่ไม่ “ตื่น” จากทุกข์
“สิ่งใดที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ดีที่สุดสำหรับเรา” คือประโยคสำคัญที่ผู้เขียนส่งสารมายังผู้อ่านให้เปิดใจเรียนรู้ชีวิตจากทุกข์ของตนเอง วิกฤตชีวิตคือโอกาสสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจความเป็นชีวิต รู้จักกับ “ใจ” ของตน จิตที่ฝึกแล้วย่อมไม่พาชีวิตให้ทอดเวลาแห่งทุกข์ยืดยาวเป็นหยาดน้ำค้างพันปีได้ อย่างไรก็ตามผู้อ่านอาจเห็นว่าประโยคนี้เป็นเพียงประโยคปลอบใจ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของนางสายน้ำ แต่เป็นสิ่งที่เธอไม่ได้เลือก หรือเลือกไม่ได้
คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ หยาดน้ำค้างพันปี ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยายประจำปี 2558