ลับแลลายเมฆ เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมที่ร่วมสมัย เพราะเราจะได้ยินได้ฟังและได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ทางสื่อมวลชนอยู่เสมอ นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึงเด็กสาวแสนสวย มีชีวิตที่อบอุ่น งดงาม อยู่ในความคุ้มครองอย่างทะนุถนอมของคุณปู่คุณย่าผู้มั่งคั่ง เธอมีคนรักเป็นหนุมหล่อร่ำรวย ฉลาดและเป็นสุภาพบุรุษ ความเหมาะสมลงตัวทุกประการราวสวรรค์สรรสร้างน่าจะทำให้ชีวิตคู่หลังแต่งงานกันมีความสุขสมบูรณ์ แต่หากเป็นเช่นนั้นนวนิยายเรื่องนี้คงไร้สาระสำหรับผู้อ่าน
ท้องฟ้าที่ใสกระจ่างในตอนแรก เริ่มมีเมฆหมอกมาบดบัด เช่นเดียวกับเด็กสาวผู้มีชีวิตงดงามราวกับล่องลอยอยู่บนท้องฟ้าสมตามชื่อของเธอ เมื่อเธอย่างสู่วัยสาวเต็มตัว ก็ราวกับมีผู้เลื่อนฉากลับแลที่บดบัดความจริงแห่งชีวิตออกไป ความทรงจำเก่า ๆ เริ่มผุดพรายขึ้นมาเป็นระยะเมื่อได้เห็นสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึก เสียงกอไผ่เสียดสี อาวุธปืน แผงอกเปลือยเปล่า ภาพเลอะเลือน รูปเงาไร้ร้างก่อตัวทะมึนเหนือร่างเธอราวอสุรกาย รวมทั้งความรู้สึกหวาดกลัว ขยะแขยง และเกลียดชัด ที่พลุ่งขึ้นท่วมหัวใจ ทำให้เธอเกิดอาการกลัวอย่างรุนแรงจนแทบเสียสติ ร่างกายแข็งเกร็งไร้การควบคุม เธอเกิดอาการเช่นนี้ทุกครั้งที่กำลังจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนรัก อาการและความรู้สึกนี้เป็นเช่นเดียวกับฝันร้ายในวัยเยาว์ที่คุณปู่คุณย่าเฝ้าเยียวยาปลุกปลอบจนฝันร้ายนั้นห่างไป แต่อันที่จริง ฝันร้ายนั้นถูกกลบฝังให้ตกตะกอนอยู่ในจิตใจใต้สำนึก รอเวลาที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกวนให้ขุ่นขึ้นมา ในที่สุดในวันแต่งงานหญิงสาวพบว่าภาพเลอะเลือนที่เธอเห็น แต่ความรู้สึกกลัวจับใจที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ฝันร้าย หากแต่เป็นความจริงที่ถูกกลบฝังอยู่ในความทรงจำก่อนเก่า เธอเริ่มจำประสบการณ์เลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นกับตนเองได้ แต่ไม่ทั้งหมดและเมื่อติดตามสืบค้นต่อไปก่อพบความจริงที่โหดร้ายมากขึ้นที่เกิดขึ้นกับตัวเธอและครอบครัวของเธอ
เรื่องราวของการล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวละครหลักเท่านั้น ตัวละครหญิงอีกหลายตัวในเรื่องประสบกับการละเมิดทางเพศในลักษณะต่าง ๆ กัน บ้างก็รอดพ้นการข่มขืนมาได้ แต่อับอายและเจ็บช้ำ บ้างก็ถูกข่มขืนแล้วฆ่า บ้างก็ฆ่าตัวตายในภายหลังเพราะความเปราะบางของวัยเยาว์ที่ไม่อาจต่อสู้กับโลกที่โหดร้ายได้ ตัวละครเอกซึมซับกับเรื่องราวของผู้หญิงเคราะห์ร้ายมากมายที่พึ่งพาการเยียวยาจากสมาคมที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้ความอนุเคราะห์แก่เพื่อนเพศหญิงด้วยกัน เธอจึงพบหนทางแห่งการใช้ชีวิตของเธอให้มีคุณค่าต่อตนเอง ต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสังคม
ลับแลลายเมฆ เป็นทั้งนวนิยายเชิงจิตวิทยาและนวนิยายเชิงสังคม “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการบำบัดรักษาคนไข้ที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ด้วยการรื้อฟื้นความจำเพื่อให้คนไข้เผชิญหน้ากับความจริงในชีวิต ไม่ใช่หลบหนีหลีกเร้นจนกลายเป็นเก็บกดความเป็นจริงนั้นไว้ให้เป็นแผลกลัดหนองในใจไม่มีวันหาย การรักษาทางแพทย์ด้วยวิธีทางจิตวิทยาจึงทำให้คนเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขตามเดิม และเนื่องจากอาการกลัวความสัมพันธ์ทางเพศเกิดจากการที่ตัวละครถูกข่มขืนซ้ำซากในวัยเด็กทำให้นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอประเด็นทางสังคมถึงการกดขี่ทางเพศด้วย (Sexual Harassment) ไปจนถึงข่มขืน เรื่องค่านิยมของสังคมที่ยกย่องผู้ชายที่มีประสบการณ์ทางเพศมาก ๆ แต่เหยียดหยามผู้หญิงที่พลาดพลั้ง เรื่องระบบสังคม กฎหมาย และสื่อมวลชนที่ซ้ำเติมผู้หญิงที่เป็นเหยื่อทางเพศและที่สำคัญคือผู้หญิงที่เป็นเหยื่อทางเพศมักจะลงโทษตนเองด้วยความคิดว่าตนไม่มีคุณค่าอะไรเหลืออีกแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้ชี้กลวิธีในการแก้ปัญหาสังคมโดยตรง แต่ได้กระตุ้นให้คิดว่าผู้ชายไทยควรได้รับการปลูกฝังให้เคารพคุณค่าของเพศหญิง ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็ควรได้รับการปลูกฝังให้รักตนเอง และสำนึกในคุณค่าของตนเองให้มากขึ้น
นอกจากจุดเด่นในด้านเนื้อหาแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ยังมีลักษณะเด่นทางวรรณศิลป์ ผู้เขียนวางโครงเรื่องได้กระชับ แต่มีความซับซ้อน ชวนให้ผู้อ่านติดตามความจริงที่ผู้เขียนเปิดเผยเป็นระยะ ๆ จนคลี่คลายหมดในตอนจบเรื่อง เนื่องจากเป็นนวนิยายที่มีสาระทางการแพทย์และสังคม ผู้เขียนได้ค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการอย่างมาก แต่ผู้เขียนก็นำมาย่อให้เข้าใจง่ายและสามารถสอดสลับไปกับเนื้อเรื่องได้อย่างกลมกลืน ไม่ทำลายรสวรรณศิลป์ของความเป็นนวนิยาย ลับแลลายเมฆ จึงเป็นนวนิยายที่มีคุณค่าในมิติทางสังคมและมิติทางวรรณกรรมอย่างสมบูรณ์
ดังนั้น ลับแลลายเมฆ ของ “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” จึงสมควรได้รับรางวัลยอดเยี่ยม “เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด” ประเภคนวนิยาย ประจำปี 2559 นี้