“นักเดินทางสู่ห้องเก็บของใต้บันได” ของจักรพันธุ์ กังวาฬ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 13 เรื่อง ที่สะท้อนภาพชีวิตคนไทยร่วมสมัยยุควัตถุนิยมที่สูญเสียคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยตกอยู่ในภาวะสับสนอลหม่าน จนไม่อาจแยกแยะความจริงกับความลวง ความดีกับความชั่ว ความถูกต้องกับความผิดพลาด เรื่องสั้นโดยรวมมีทั้งความหมายตามตัวอักษรที่ทำให้ผู้อ่านสนุก ตื่นเต้น ระทึกใจ กับความหมายแฝงอันลุ่มลึกต่อการเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิต
ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวด้วยกลการประพันธ์แบบสัจนิยม และแบบเหนือจริงอย่างแยบยล ใช้ภาษาสั้นและกระชับ ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและเกิดอารมณ์ร่วม ชื่อเรื่องบางเรื่องผู้เขียนตั้งขึ้นโดยเล่นกับความหมายของคำในภาษาได้อย่างแนบเนียนและกลมกลืน เช่น “เสียเด็ก”, “คนลืมตัว” และ “ข้างนอกข้างใน” เป็นต้น
ผู้เขียนนำชื่อเรื่อง 2 เรื่อง คือ “นักเดินทาง” กับ “เสียงร้องจากห้องเก็บของใต้บันได” มารวมกันเป็นชื่อหนังสือ “นักเดินทางสู่ห้องเก็บของใต้บันได” เหมือนจะชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเป็นนักเดินทางทั้งสิ้น ซึ่งมักมีจุดหมายปลายทางอันห่างไกล แท้ที่จริงสิ่งใกล้ตัวที่ไม่มีใครสนใจเหลียวแลต่างหากที่มีสาระชวนให้ค้นหาความหมายให้แก่ชีวิตมากกว่าสิ่ง ไกลตัว
ด้วยคุณสมบัติด้านเนื้อหาและกลการประพันธ์ดังกล่าว “นักเดินทางสู่ห้องเก็บของใต้บันได” ของจักรพันธุ์ กังวาฬ จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทรวมเรื่องสั้น รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2553