ข้ามสมุทร ของ วิษณุ เครืองาม เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ นำเสนอเรื่องราวชายหนุ่มนาม พจน์ ใน พ.ศ. 2542 หรือ ค.ศ. 2000 นักเรียนไทยในปารีส ที่เดินทางข้ามเวลา ข้ามทวีป ข้ามชาติภพไปยังกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2228 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กลายเป็น แสน ผู้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ในฐานะล่ามติดตามคณะราชทูตของออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) ที่เชิญพระราชสาส์นเจริญสัมพันธไมตรีไปทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส รอนแรมไปถึงหกเดือน และเดินทางกลับมากรุงศรีอยุธยาที่ช่วงรอยต่อระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับสมเด็จพระเพทราชา ที่เข้มข้นด้วยวิกฤตการเมืองภายในและความตึงเครียดของการเมืองภายนอก ท้ายที่สุด พจน์ ก็ได้เดินทางกลับมาจุดเดิม เวลาเดิม และได้ค้นหาเติมเต็มสิ่งที่ใคร่รู้ที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกเอาไว้
ความหนา 925 หน้า 30 บท ของนวนิยายเรื่องนี้อัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้ามาอย่างละเอียดลออ ทั้งข้อมูลจากฟากของฝรั่งเศสและข้อมูลจากฟากพงศาวดารไทยเท่าที่จะมีจารึกไว้ ผู้เขียนได้ใช้จินตนาการรังสรรค์ประวัติศาสตร์ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในรูปแบบของนวนิยาย ผู้อ่านจะพลอยได้รับความรู้ด้านกุศโลบายทางการทูตและการเมืองที่ชิงไหวชิงพริบเพื่อรักษาผลประโยชน์และเกียรติภูมิของประเทศชาตินอกเหนือไปจากเพลิดเพลินไปกับอรรถรสของนวนิยายที่ดำเนินเรื่องโดย พจน์ หรือ แสน ผู้เดินทางข้ามสมุทร อันกินความถึง ข้ามเวลา ข้ามทวีป และข้ามชาติภพ พร้อมกับเกิดความตระหนักถึงภูมิปัญญาของแผ่นดิน และสำนึกรู้คุณของบรรพบุรุษที่รักแผ่นดินเกิด ซึ่งเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ
นับได้ว่านวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ข้ามสมุทร ได้ทำหน้าที่อย่างภาคภูมิในการผนวกสาระข้อมูลเข้ากับจินตนาการของผู้เขียนได้อย่างกลมกลืน คณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊ค อวอร์ด ประเภทนวนิยายจึงมีมติให้นวนิยายเรื่อง ข้ามสมุทร ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในปีพุทธศักราช 2559