นวนิยายเรื่อง วายัง อมฤต ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ เปิดเรื่องให้นายไฮน์ริช เบิล ชาวเยอรมัน นักแปลและล่าม 8 ภาษาผู้มีชื่อเสียง ได้รับการติดต่อจาก “กรมพระฯ” เจ้านายชั้นสูงของสยามที่ลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่ชวา เพื่อให้แปลบันทึกความทรงจำที่ยังทรงเขียนไม่จบเกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากนั้นผู้เขียนก็พาผู้อ่านทะลุทะลวงเข้าไปในเหตุการณ์การต่อสู้ของกลุ่มกองโจรใต้ดินของชวาซึ่งมีบุหลันหรือบุหรงและศรี อรพินโท เป็นผู้นำที่มีอุดมการณ์ในการต่อต้านและขับไล่กองทัพญี่ปุ่นที่เข้ายึดครองชวาในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาและพร้อมกันนั้นก็พยายามปลดแอกจากอำนาจของชาวดัชท์ ผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเดิมไปด้วย นอกจากสงครามในเอเชีย ผู้เขียนพาผู้อ่านเข้าร่วมรู้บางเสี้ยวของสงครามกลางเมืองสเปนที่ฝ่ายกบฏร่วมรบต่อต้านพวกฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโก ผู้นำสเปนซึ่งมีท่านฟูเร่อร์แห่งเยอรมนีหนุนหลัง ผู้เขียนแสดงการหักเหลี่ยมซ้อนกลและความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ของสายลับเยอรมันซึ่งเป็นหนอนบ่อนไส้ในกองทหารอาสา อันทำให้เปิดโฉมหน้าของไฮน์ริช เบิล ว่าที่แท้คือ ฟรังซัวร์ อูแบง ซึ่งเป็น ผู้รับทอดอุดมการณ์และตัวตนของไฮน์ริช เบิล หลังเขาถูกสังหารโดยกองทหารนาซี จากสงครามกลางเมืองในสเปนผู้เขียนนำผู้อ่านกลับเข้าสู่สงครามกลางเมืองในชวา ไฮน์ริช เบิลคนใหม่ยินดีเข้าร่วมงานต่อต้านญี่ปุ่น และขับเคี่ยวกับพันตรี ทารุ ซามาโมโต้ เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุหลันและศรี อรพินโท เหตุเพราะเขาหลงรักบุหรง และต่อมาเขาได้รับรู้ความจริงหลังเธอถูกสังหารว่า บุหรงคือคนเดียวกับบุหลันซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทุนให้ กลุ่มกบฏและตัวเธอเองก็เป็นนักรบผู้ห้าวหาญในกองทัพใต้ดินของชวา ความพ่ายแพ้และการสูญเสียหญิงที่ตนรักทำให้ไฮน์ริช เบิล หมดไฟชีวิต เขาเผาข้าวของที่เตือนใจให้นึกถึงดินแดนชวา รวมทั้งบันทึกความทรงจำของกรมพระฯ ที่ยังแปลไม่เสร็จนั้นด้วย
อนุสรณ์ ติปยานนท์ ใช้ภาพซ้ำของการกบฏไม่ว่าจะเกิดในสยาม ชวา สเปนและญี่ปุ่น สื่อให้เห็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งของคนสองฝ่ายต่างอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ทุกแห่งทุกเวลา ความคลุมเครือ ความเหนือจริง ความลึกลับ สัญลักษณ์ อาการกึ่งจริงกึ่งฝัน และเรื่องเล่าลวง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในตัวเรื่อง ย้ำให้ตระหนักถึงความลวงที่เป็นเงาหลอกล่ออยู่เบื้องหน้าความจริง เช่นเดียวกับการเชิดหนังที่ผู้ชมมองเห็นแต่เงาดำโลดแล่นอยู่บนฉากขาวซึ่งบดบังตัวหนังและคนเชิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง วายัง อมฤตซึ่งเป็นชื่อของ นวนิยายเรื่องนี้ หมายถึงโลกแห่งอุดมคติ โลกที่อาจจะดูเลื่อนลอยเหมือนเงาดำของหนังวายัง กุลิต แต่มีความจริงที่สัมผัสได้อยู่ในนั้น นั่นคือ อุดมการณ์อันแข็งแกร่ง อุดมคติที่ตกผลึก และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แม้ว่าเรื่องราวของนักปฏิวัติแห่งชวา ไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์ เอเวอร์เดล อามีร์ ฮาริฟุดดิน บุหลันหรืออดิรัต ฮาฟิช และศรี อรพินโท จะกลายเป็นเพียงเงาในฉากประวัติศาสตร์การเมือง แต่อุดมคติในการเปลี่ยนสังคมให้ดีกว่าเดิมยังคงดำรงอยู่เสมอและส่งทอดต่อมาไม่ขาดสาย ฉะนั้น วายัง อมฤต โลกแห่งอุดมคติ จึงมีอยู่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของอีกหลายประเทศ
ด้วยคุณค่าสาระของเรื่อง การประกอบสร้างนวนิยายด้วยศิลปะการประพันธ์ที่มีชั้นเชิงและการ เรียงร้อยด้วยถ้อยภาษาที่สอดคล้องกับตัวบท ทำให้นวนิยายเรื่อง วายัง อมฤต มีความโดดเด่นยิ่ง
คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2562