รวมบทกวีชุด “นิธาร” ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล มีลีลาเฉพาะตัว กล่าวคือ ‘คิดนอกกรอบ’ ในด้านเนื้อหา กล้านำเสนอไม่ซ้ำใคร มีมุมมองใหม่ ๆ ‘ภายใต้กรอบ’ ฉันทลักษณ์ (ที่ผ่อนคลาย) ซึ่งผสมผสานกันระหว่างรูปแบบเก่า (นิทาน) ประยุกต์กับการเล่าเรื่องแบบใหม่ได้ลงตัว
เรื่องราวที่นำเสนอหลากหลายประเด็น เป็นต้นว่า โลก ชีวิต ธรรมชาติ สังคม การเมือง ฯลฯ โดยใช้ชั้นเชิงวรรณศิลป์ซึ่งมีทั้งความเปรียบ และสัญลักษณ์ แม้บางเรื่องจะสื่อสารตรง ๆ แต่ยังคงมีเสน่ห์การยั่วล้อและเสียดสี ผู้เขียนชี้ให้เห็นหายนะของความไม่พอดีของมนุษย์ ขณะที่อีกด้านหนึ่งได้ฉายภาพให้เห็นถึงโลกสวยงามด้วยความรัก สันติภาพ เสรีภาพ และอิสรภาพ อย่างมีชั้นเชิงในการนำเสนอพอสมควร
เสน่ห์อีกอย่างก็คือ เมื่อผู้เขียนพูดถึงสิ่งใด เช่น หอยทาก ผีเสื้อ นก ต้นไม้ ก็มิได้หมายความจำเพาะแต่สิ่งนั้น หากแต่ซ่อนนัยไว้เสมอ และหลายเรื่องที่ตั้งเป็นปุจฉาหรือยกสิ่งใดมากล่าวอ้าง ก็สามารถอธิบายเหตุผลรองรับได้อย่างสมเหตุสมผล ในท่ามกลางโลกปัจจุบันสิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อ คือ ให้ตั้งหลักทบทวนชีวิต แล้วก้าวเดินอย่างมีสติ เพื่อปรับความสมดุล
อย่างไรก็ตาม ความไม่เคร่งครัดในรูปแบบการนำเสนอมีส่วนทำให้ “คำ” และ“ความหมาย” พร่าเลือนไปบ้าง หากแต่ผู้เขียนเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องคล้าย ‘นิทาน’ บวกกับ ‘ลูกเล่น’ เฉพาะตัว จึงทำให้เรื่องหนัก ๆ กลายเป็นความผ่อนคลายและร่วมสมัย
รวมบทกวี “นิธาร” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2