ธนูสายฟ้า เป็นผลงานประพันธ์ของมาลา คำจันทร์ นวนิยายเรื่องนี้ได้นำพาผู้อ่านกลับไปสู่โลกของนิทานพื้นบ้านในอดีต แม้ผู้ประพันธ์จะใช้รูปแบบการนำเสนอแบบนวนิยายสมัยใหม่ แต่กลการประพันธ์ของนวนิยายเรื่องนี้สืบขนบการแต่งเรื่องแบบนิทานอย่างชัดเจน ดังจะเห็นว่าผู้ประพันธ์ได้สร้างเนื้อหาให้เวียนวนอยู่ในโลกของจินตนาการมากกว่าความสมจริง มีการสร้างตัวละครแบบวีรบุรุษ การใช้อนุภาคของนิทานพื้นบ้าน เช่น การซ่อนตัวของตัวละคร การติดตามหาของวิเศษ การพบและพลัดพราก การสร้างฉากมหัศจรรย์ การสร้างตัวละครอมนุษย์ ฯลฯ
ผู้ประพันธ์ได้สร้างสรรค์จินตนาการแปลกๆ ใหม่ๆ โดยนำมาผสานกับคติชนของล้านนาและการที่ผู้ประพันธ์ใช้ภาษาถิ่นล้านนาสอดแทรกอยู่ตลอดเรื่อง ทั้งในด้านคำศัพท์และความเปรียบ ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ มีความโดดเด่นด้านการแสดงสีสันของท้องถิ่นอีกด้วย
ธนูสายฟ้า จึงนับเป็นตัวอย่างของงานวรรณกรรมที่ “เล่น” และ “ล้อ” กับขนบการประพันธ์ในอดีตและทำให้ประจักษ์ว่าในโลกสมัยใหม่ นิทานยังมีบทบาทในด้านการสร้างจินตนาการและความบันเทิงให้แก่คนในสังคม