เสือเพลินกรง  บทประพันธ์ของผาด  พาสิกรณ์   นักเขียนหน้าใหม่ในวงวรรณกรรม  แต่หากบอกว่าชื่อจริงของเขาคือ วิษณุฉัตร  วิเศษสุวรรณภูมิ   คงไม่แปลกใจนักว่าเขาเป็น  “ลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น”

เสือเพลินกรง  เป็นนวนิยายเรื่องแรกของผาด  พาสิกรณ์   ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารรายปักษ์เป็นเวลา 2 ปีกว่า จึงนำมารวมเล่มเป็นหนังสือหนา 734 หน้า   นวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มสหาย 6 คน ที่หัวหกก้นขวิดด้วยกันในโรงเรียนประจำมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม  ต่อมาสองคนถูกแยกกลุ่มส่งตัวไปเรียนในต่างประเทศเมื่อจบชั้นมัธยมสามเพราะความ “เฮี้ยวเกินพิกัด” จนโรงเรียนต้องเชิญออก หนุ่มห้าวกลุ่มนี้  ต่างคนต่างเติบโตมีวิถีชีวิตและอาชีพการงานของตน   มูลเหตุที่ดึงให้ผองเพื่อนทั้ง 6 คนกลับมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างใกล้ชิดอีกครั้งเริ่มจากเพื่อนคนหนึ่งต้องรับหน้าที่ดูแลลูกสาวของเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ฝากฝังไว้ก่อนทำตัวหายสาบสูญไปจากสังคมตัวละคร    ผู้เล่าเรื่องจึงต้องวุ่นวายกับการทำหน้าที่ “พ่อ” ให้เด็กสาววัยรุ่นไปพร้อมกับการผจญกับปัญหากลยุทธ์ทางธุรกิจในบริษัทโฆษณาที่ตนทำอยู่   การสืบหาข่าวคราวของเพื่อนผู้ทำตัวสาบสูญ    การหวนคิดย้อนคืนกลับไปสู่อดีตเยาว์วัยอันโลดโผนของตนและผองเพื่อน และการตัดสินใจกำหนดเส้นทางชีวิตในอนาคตของตน

นวนิยายเรื่อง เสือเพลินกรง สร้างความบันเทิงแก่ผู้อ่านด้วยอารมณ์ที่คละเคล้ากันระหว่างความซาบซึ้งใจในมิตรภาพของผองเพื่อนผู้เกื้อกูลกันอย่างไม่มีข้อจำกัด  และความหวานซึ้งของความรักต่างวัยที่ค่อยๆ กระชับระยะห่างจนใกล้ชิดด้วยการเปิดใจและเข้าใจ   นอกจากนี้ยังเจือความเข้มทางอารมณ์ด้วยการเผยข้อมูลเล่ห์เหลี่ยมกลยุทธ์ของการโฆษณาที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคล่อหลอกเด็กและเยาวชนให้หมกมุ่นอยู่กับรสนิยมและค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง  อีกทั้งยังระทึกใจกับการคลี่คลายเรื่องราวของเพื่อนผู้สาบสูญที่บรรดาเพื่อน ๆ ช่วยกันแกะรอยจากหลักฐานต่าง ๆ ที่ทิ้งไว้อย่าง    แยบยล

สาระและบันเทิงของนวนิยายเรื่องนี้ถูก “ปรุงรส”  ด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่นวลเนียนด้วยการสร้างตัวละครมีชีวิตชีวามีบุคลิกเฉพาะตัว   เวลาในเรื่องที่ตัดสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบันบทสนทนาที่ใกล้เคียงคำพูดที่ใช้ในชีวิตจริงเหมาะสมกับกาลเทศะและบุคลิกของตัวละคร การแทรกทัศนะวิพากษ์วิจารณ์สังคม  อย่างแหลมคมชวนคิด   การแฝงอารมณ์ขันในถ้อยคำสำนวนที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่  และการสร้างลีลาภาษาเฉพาะตัวที่โดดเด่นจนเป็นอัตลักษณ์   ซึ่งสะท้อนพรสวรรค์ความเป็นนักเขียนอย่างชัดเจนทั้ง ๆ ที่เป็นผลงานเขียนเรื่องแรก

แม้นวนิยายเรื่อง เสือเพลินกรง จะเป็นเรื่องราวของคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง  แต่ก็ชวนให้ผู้อ่านคิดไกลไปว่าเราทั้งผองต่างเพลิดเพลินอยู่ในกรอบกรงของสังคม  จนอาจลืมคิดไปว่าการใช้ชีวิตอย่างมีอิสระเสรีนั้นเป็นอย่างไร   ดังนั้นเพียงแค่เราใจกล้าพอที่จะทลายกรอบกรงนั้น   เราก็จะได้ลิ้มรสความหวานหอมของอิสรภาพแห่งชีวิต

ด้วยคุณค่าโดดเด่นทางด้านเนื้อหา  ความคิด  ภาษาและกลวิธีทางวรรณศิลป์  นวนิยายเรื่อง  เสือเพลินกรง  จึงได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด  ประจำปี  2553