เสือล่องวารี นวนิยายของอุเทน วงศ์จันดา นำเสนอเรื่องราวของการดูแลรักษาป่าไม้ของชุมชน เน้นการพึ่งพาเอื้อเฟื้อกัน การมีส่วนร่วม การเคารพธรรมชาติ  การดูแลสิ่งแวดล้อม การต่อต้านกระแสทุนนิยมและบริโภคนิยมซึ่งทำลายทั้งธรรมชาติ คุณภาพชีวิตและวัฒนธรรม

ผู้เขียนใช้กลวิธีให้แต่ละบทมีผู้เล่าเรื่องต่างกันไป เรื่องจากผีนางตะเคียนทอง หลวงพ่อ ผู้ใหญ่บ้าน คนขุดเรือ คนพายเรือ คนปลูกต้นไม้ ทำให้ผู้อ่านรับรู้เรื่องราวชีวิตของผู้เล่าเรื่องและเรื่องราวของชุมชนไปพร้อมกัน นวนิยายเรื่องนี้มีแนวเรื่องแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) แสดงสีสันท้องถิ่นด้วยตำนาน ความเชื่อ สิ่งลี้ลับ และให้บรรยากาศของความเป็นไทยที่มีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติไปพร้อมกับศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระและผีจึงเป็นพลังหลอมรวมจิตใจของชาวบ้าน และเมื่อผนึกกำลังกับผู้นำชุมนที่มุ่งมั่นทำดี จึงเป็นไตรภาคที่พัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าความศรัทธาสามารถเปลี่ยนสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ให้เป็นไปได้ ดังนั้น การปลูกป่าเพื่อคืนกลับความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้แก่ผืนโลก แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็สามารถทำให้สำเร็จได้