หนังสือเล่มนี้เป็นบทความที่ได้มาจากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ถึง 22 คน ที่หลากหลายเผ่าพันธุ์จากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย และแต่ละคนล้วนมีความภูมิใจในเผ่าพันธุ์ของตน แม้ทุกคนจะรักและเต็มใจเสียสละให้ประเทศไทย แต่ก็ยังต้องการรักษาเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนเอง ชี้ชัดว่าสังคมไทยเป็น “พหุสังคม” คือมีผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมมารวมกันอย่างกลมกลืน สงบสุข

งานเขียนมีลักษณะเป็นสารคดีชีวิตของผู้ดำรงอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ตนเองไว้อย่างเด่นชัด ซึ่งมิได้มีเพียงชนเผ่าที่เราคุ้นเคย แต่ยังเจาะลึกถึงเผ่าพันธุ์เล็ก ๆ อย่างชาวชอง ชาวลาวครั่ง ฯลฯ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้เขียนพากเพียรเดินทางไปสัมภาษณ์ แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นสารคดีที่มีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ มีข้อมูลน่าเชื่อถือ อันเกิดจากการค้นคว้า ศึกษา วิจัย ส่งผลให้เป็นหนังสือชวนอ่าน จุดประกายความคิดให้สังคมตระหนักว่า ความภาคภูมิใจในตนเองควรอยู่บนพื้นฐานของการเคารพและเข้าใจคนอื่นด้วย

กลวิธีการนำเสนอของหนังสือเล่มนี้น่าสนใจ เพราะใช้การสัมภาษณ์บุคคลชาติพันธุ์ต่าง ๆ แล้วนำมารวมไว้ในเล่มเดียว จึงให้เห็นภาพกว้างของความหลากหลายของชนเผ่าในประเทศไทย ด้วยวิธีเขียนที่ไม่เป็นทางการมากเกินไปจึงอ่านสนุก พร้อมกับมีเรื่องเล่าต่าง ๆ ที่น่าทึ่ง และแสดงสายสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่าต่าง ๆ ให้เห็น ทั้งจากการตั้งสมมติฐาน การเก็บข้อมูล และการสัมภาษณ์ จึงเป็นหนังสือให้ความรู้ด้วยภาษาง่าย ๆ และอ่านได้ด้วยความเพลิดเพลิน ทรงคุณค่าแก่การเป็นหนังสือชนะเลิศรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทสารคดีชาติพันธุ์วิทยา ประจำปีพุทธศักราช 2554