ลับแล,แก่งคอย  นวนิยายของอุทิศ  เหมะมูล  เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่พยายามขัดขืนกรอบชีวิตตามแนวทางเข้มงวดที่พ่อกำหนดให้   การหมกมุ่นอยู่กับความสูญเสียและความผิดหวังในชีวิตทำให้ตัวละครสร้างโลกจินตนาการเพื่อลวงตัวเองและลวงคนอื่น   เขามีความสุขกับโลกลวงที่ทำให้สามารถกล่าวโทษคนอื่นได้สะใจ   ทั้งพ่อผู้มีอัตตาสูง  และแม่ผู้อ่อนแอ  รวมทั้งแฝงตัวเป็นคนอื่นเพื่อปฏิเสธความเลวร้ายต่าง ๆ ที่ตนเองกระทำ   ชีวิตอันสับสนของตัวละครคลี่คลายลงได้ก็ด้วยการมีสติ  คือ ความรู้ตัว  และปัญญา  คือ ความรู้ทั่ว  ทำให้ได้คิดอย่างมีเหตุมีผล  ไม่งมงาย  เพื่อยืนหยัดและยืนยันตัวตนแท้จริง

นวนิยายเรื่องนี้ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องสลับตัดฉากไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และจงใจให้รายละเอียดของเรื่องราวต่าง ๆ มาก  เหมือนกับจะแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลหนึ่งมีผลสะเทือนถึงคนอื่น ๆ และสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมีผลสะท้อนถึงปัจจุบัน   แม้ผู้เขียนจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครเอก ซึ่งน่าจะทำให้ผู้อ่านคล้อยตามความคิดของตัวละครนั้น  แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนมีชั้นเชิงความสามารถที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจพฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครอื่น ๆ ในแง่มุมที่แตกต่างไป  ตัวละครในเรื่องจึงมีมิติลึกและซับซ้อนเช่นเดียวกับมนุษย์จริง  การแสดงให้เห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีหลายมุมมองยังมีแทรกอยู่อีกหลายเรื่องหลายเหตุการณ์  รวมทั้งการที่ตัวละครผ่านพ้นวิกฤติชีวิตมาได้  แต่จะด้วยจิตบำบัด  ความเชื่อไสยศาสตร์  หรือหลักธรรมทางพุทธศาสนาก็แล้วแต่จะมองจากมุมของใคร  นอกจากนี้  ในระหว่างเรื่องเล่าของตัวละครเอก  นวนิยายเรื่องนี้ยังบอกเล่าถึงความเคลื่อนไหวของสังคมไทยรวมทั้งความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่ง  และความเปราะบางของความสัมพันธ์ของมนุษย์  ที่อาจแตกหักลงง่าย ๆ เพียงเพราะยึดมั่นอยู่ในความคิดและวิถีทางของตนเอง

นวนิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์ทางวรรณศิลป์ที่การสร้างความคลุมเครือให้แก่ตัวละครและเหตุการณ์อยู่ตลอดทั้งเรื่อง  กล่าวได้ว่าผู้เขียนจงใจเล่นกับความจริงและความลวง   เพื่อแสดงให้เราเห็นว่าเมื่อสกัด            สิ่งลวงต่าง ๆ ในชีวิตออกไปแล้ว  ความจริงของชีวิตคือความงดงาม   เฉกเช่นประติมากรที่สกัดส่วนเกินบนแท่งหินอ่อน  เพื่อให้ได้รูปแกะสลักที่งดงามที่สุด