หนังสือกวีนิพนธ์ชุด ฤดูใจ ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เป็นผลงานที่กวีใช้ต้นทุนชีวิตและวัฒนธรรมในฐานะ “เด็กชนบท” จาก “ภาคอีสาน” เป็นแกนกลางในการดำเนินเรื่องคู่ขนานไปกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเล่าเรื่องผ่านธรรมชาติที่แฝงด้วยปรัชญา ชวนให้ระลึกถึงวัยเยาว์ในท้องทุ่งที่มีความสุขตามประสา “คนบ้านนอก” กวีค่อย ๆ เผยภาพวัยเยาว์ที่สะท้อนให้เห็นการหาอยู่หากิน รับผิดชอบช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เช่น การหาบน้ำจากบ่อมาใช้ในบ้าน  การหาปลา   การแหย่ไข่มดแดง ฯลฯ รวมทั้งภาพความสนุกสนานใน          วัยเยาว์ผ่านวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่น  เช่น การจุดบั้งไฟ การแห่นางแมวขอฝน และภาพความสุขจากเทศกาล “งานวัด” กวีใช้ธรรมชาติแวดล้อมสอนใจให้ตระหนักในความสงบร่มเย็น ไม่เร่งร้อนวิ่งตามกระแสโลกจนสูญเสียความสมดุลในชีวิต สัจธรรมจากธรรมชาติบอกเตือนให้เราต้องดูแล รักษาธรรมชาติเหมือนกับการดูแล “ฤดูใจ” ของตน ให้หมุนวนไปอย่างสมดุลและงดงาม กวีตระหนักว่าท้องทุ่งคือห้องเรียน   มีธรรมชาติเป็นครู       ผู้ยิ่งใหญ่ผู้สอนวิถีชีวิตที่ลึกซึ้งให้แก่เรา

ด้านกลวิธีการประพันธ์ กวีสามารถใช้ภาษาได้อย่างสอดคล้องกับเนื้อสารที่ต้องการสื่อ คือความเรียบง่ายที่งดงาม รวมทั้งใช้วิธีย้อนภาพความทรงจำในวัยเยาว์เทียบทาบกับประสบการณ์ชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความตระหนักในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่วนเวียนเป็นครูอยู่ใน  “ฤดูใจ” ไม่รู้จบ

ดังนั้น หนังสือกวีนิพนธ์ชุด ฤดูใจ ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศ    อันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์  ประจำปีพุทธศักราช 2562