รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู สะท้อนเรื่องราวความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดของผู้คนในสงครามมหาเอเซียบูรพา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แพ้สงครามคือทหารญี่ปุ่น เน้นเนื้อหาการสร้างทางรถไฟจากไทยไปพม่า ซึ่งมีสถานีสุดท้ายอยู่ที่พญาตองซู ในเขตพม่า เรื่องนี้มีลักษณะเป็นเชิงสาระนิยาย เน้นข้อเท็จจริงและใช้จินตนาการซ้อนไปตามความจำเป็น เพื่อสร้างความสะเทือนใจ ส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นข้อมูลบุคคลและสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ ส่วนที่เป็นจินตนาการเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ของผู้เขียน ซึ่งเล่าผ่านตัวละครไทยและญี่ปุ่นที่เป็นประหนึ่งนักสำรวจประวัติศาสตร์ โดยในแต่ละจุดที่ตัวละครทั้งสองไปถึงจะมีข้อมูลเรี่องเล่าจากชาวบ้านซ้อนขึ้นมาเป็นเรื่อง ๆ เหมือนภาพศิลปะปะติดปะต่อ หรือ “Collage” ทำให้รู้ว่าท้องถิ่น
ห่างไกลความเจริญ (แม้ในปัจจุบัน) ในสมัยสงคราม คือดินแดนแห่งความทุกข์ทรมาน ของมนุษย์ทั้งสองฝ่าย และทำให้รู้ว่า ความเจ็บปวดรวดร้าวของมนุษยชาตินั้นถ่ายทอดสู้กันได้แม้ว่าพวกเขาจะตายไปแล้ว

นอกจากข้อเท็จจริงอันชวนตระหนกแล้ว ผู้เขียนยังสร้างความสะเทือนใจด้วยความฝัน การซ้อนภาพปัจจุบันเข้ากับอดีต การหลอกหลอนของภาวะจิต จนเป็นเรื่องกึ่งนิมิตฝันมาสอดร้อยเรื่อง ผสานเข้ากับภาษาที่เปี่ยมไปด้วยภาพจินตนาการ การปะติดปะต่อข้อมูลสงครามที่มนุษยชาติไม่อยากเอ่ยถึงจึงเป็นเหมือนการเปิดบาดแผลในอดีตให้คนปัจจุบันได้ร่วมเจ็บปวดด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นนวนิยายที่ควรแก่การรับรู้ เรียนรู้
และเป็นตัวอย่างในการไม่ทำซ้ำ และในขณะเดียวกันก็นับได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการเขียนในอนาคต ที่ต้องการ “ข้อเท็จจริง” ที่ชัดเจนมากกว่า “จินตนาการ”

คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู ของสุมาตร ภูลายยาว ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕