“ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของ วีรพร  นิติประภา  เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงชีวิตของเด็กหญิงและเด็กชายกำพร้า 3 คนคือ  ชาลิกา  ชารียา  และปราณ  ใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างอบอุ่นที่บ้านสวนริมแม่น้ำนครชัยศรี  ครั้นโตขึ้นเป็นหนุ่มสาวก็แยกย้ายมาใช้ชีวิตของตนเองในกรุงเทพมหานครสลับกับบ้านเกิดเป็นครั้งคราว  ชีวิตช่วงนี้พวกเขาต้องประสบกับปัญหาเรื่องความรักและความขัดแย้งทางอารมณ์  ชีวิตจึงมีแต่ความอ้างว้าง ขมขื่น  โดดเดี่ยว  เดียวดาย  จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต    ตัวละครอื่น ๆ ที่คนทั้งสามเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยล้วนแต่ประสบกับชาตะกรรมชีวิตที่เลวร้ายหรือ “ถูกชีวิตทรยศ” ทั้งสิ้น ไม่ว่าธนิตผู้หลงใหลคลั่งไคล้ผ้าโบราณ ธนานักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย   นทีผู้สร้างภาพให้ตนองดูเป็นชายที่มีเสน่ห์ ภัทรนักดนตรีร็อค  และนวลหญิงที่มีสามีสามคนพร้อมกัน

เสน่ห์ของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ความเข้มข้นทางอารมณ์ของตัวละครที่เกิดจากกลวิธีการประพันธ์ที่ผสมผสานแนวสัจนิยมและจินตนิยายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน การเสพสุนทรียะอย่างวิจิตรของตัวละคร ผ่านสีสันของสวนดอกไม้  อวลไปด้วยเสียงไพเราะของดนตรีคลาสสิค ความงดงามของผ้าโบราณ และรสชาติอาหารที่ชวนลิ้มลอง ส่งผลให้ตัวละครเสพชีวิตอย่างสุดโต่งด้วยรสอารมณ์มากกว่าคำนึงถึงตรรกะของเหตุและผล ผู้เขียนสามารถพรรณนาความรู้สึกทุกภาวะอารมณ์ของตัวละครได้อย่างลุ่มลึก ตัวอักษรบีบคั้นกดดันอารมณ์ผู้อ่านร่วมไปกับตัวละครทุกบททุกตอน

นวนิยายเรื่องนี้เป็นบันเทิงคดีร่วมสมัยของไทยที่แหวกขนบ มุ่งสะท้อน “มลพิษของความรัก” ผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ปมปัญหาความรักได้อย่างลึกซึ้งแยบยล  โดยชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของความรักว่าคือมายาคติที่มนุษย์ลุ่มหลงและมัวเมา  มายาคติแห่งรักสร้างความซาบซึ้งตรึงใจและความเจ็บปวดรวดร้าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า  กระนั้นผู้คนก็ยังคงดิ้นรนโหยหาความรักอยู่ดี  แม้บางครั้งมิอาจพานพบรักแท้ได้ในชีวิตจริง  ดุจเดียวกับ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ที่หาทางออกไม่พบ

คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต”  ของ วีรพร นิติประภา เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557