หากเปรียบชาตกรรมเป็นสีขาว ซึ่งหมายถึงจุดเริ่มต้นอันสว่างไสวของการเกิดและมรณกรรมเป็น  สีดำ ซึ่งหมายถึง การดับวูบของแสงแห่งชีวิตไปสู่ความมืดมนอนธกาลของเขตแดนแห่งการไม่หวนคืน       สีเทาที่อยู่ระหว่างภาวะแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ คงได้แก่ ความเจ็บไข้จากโรคาพยาธิและการเสื่อมไปของสังขาร

ภายใน “โถงสีเทา” ซึ่งเป็นฉากหลักของนวนิยายชื่อเรื่องเดียวกันนี้   ผู้เขียนคือ “เข็มพลอย” ได้นำขั้วตรงข้ามหลายขั้ว   ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสีดำ-สีขาวมาเผชิญหน้ากัน   บางครั้งนำมาผสมผสานกันจนเป็นสีเทา   หลายครั้งได้สลายขั้วตรงกันข้ามนั้นและคลี่คลายไปสู่ความเข้าใจร่วมกัน

ผู้เขียนได้หยิบยื่นพื้นที่อันเท่าเทียมกันให้แก่ตัวละครหลัก 2 กลุ่มคือแพทย์และผู้ป่วยได้เปล่งเสียงของตนออกมา  ผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องต่อสู้ระหว่างความเป็น-ความตาย การรอดชีวิต-การพ่ายแพ้ต่อโรคร้าย รวมถึงชะตากรรมในเงื้อมมือญาติหรือคนในครอบครัวที่เลือกจะดูแลผู้ป่วยด้วยความเข้าใจหรือปล่อยไปตามยถากรรม  ส่วนแพทย์เอง-ได้เผชิญหน้ากับหลายประเด็นที่เป็นกรณีวิพากษ์อันเผ็ดร้อนในสังคม  เป็นต้นว่า จรรยาบรรณของแพทย์ การแปรเปลี่ยนอาชีพอันทรงเกียรติไปในเชิงพาณิชย์  การที่คนไข้หรือญาติคนไข้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือการร้องเรียนเนื่องจากการรักษาบกพร่อง จุดเด่นจุดด้อยของโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารจัดการระบบสาธารณะสุขโดยรวม-มุมมองด้านลบต่อสถาบันการรักษาพยาบาล ได้รับการทำให้สมดุลผ่านทัศนะและภาพการทำงานของแพทย์กลุ่มหนึ่งที่ยังคงรักษาอุดมคติในการอุทิศตนให้แก่การผดุงชีวิตมนุษย์   ผู้อ่านได้เห็นภาพและเกิดความเข้าใจในการทำงานและสภาพจิตใจของคนทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างดี

ท่ามกลางการชักเย่อระหว่างความเป็นและความตายในห้องโถงสีเทาอันเคร่งเครียด  ผู้แต่งบรรเทาความหดหู่ของผู้อ่านด้วยการสอดแทรกสุนทรียะทางดนตรีเติมแต้มไปในฉากต่าง ๆ  เพื่อให้เห็นว่าในท่ามกลางความเศร้าหมองเป็นทุกข์ของผู้ป่วยไข้และเหล่าญาติ  ยังมีมิตรอารีผู้ให้กำลังใจด้วยเสียงดนตรี  และด้วยการช่วยเหลือให้คำแนะนำ   นอกจากนี้  ผู้เขียนไม่บกพร่องในการนำเสนอความเป็นนิยายที่ชวนติดตาม ผ่านความรักของหนุ่มสาวสองคู่ซึ่งมีปัญหาหนักที่ต้องตัดสินใจเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการครองชีวิตคู่    อันทำให้ โถงสีเทา เป็นนวนิยายที่มีสมดุลระหว่างการนำเสนอความจริงของชีวิตและสังคมกับความเป็นนวนิยายที่อ่านแล้วรื่นรมย์ใจ