หนังสือเรื่องนี้เป็นบันเทิงคดี บันทึกชีวิตชาวนาอีสานซึ่งเรียบเรียงจากประสบการณ์วัยเด็กระหว่าง   พ.ศ. ๒๕๑๕ – พ.ศ. ๒๕๓๐  ของ  “บักหำ” ลูกชายคนเล็กในครอบครัวชาวนาที่อบอุ่น มีพ่อแม่และพี่สาวคอยดูแลสั่งสอน และเป็นแบบอย่างที่ดี

เนื้อเรื่องเล่าถึง บุคคล สถานที่ เหตุการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ ตามวิถีชีวิตของชาวนาอีสานในแต่ละฤดูกาลในรอบปี  กล่าวถึงชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ชีวิต และการเล่นสนุกของเด็ก ๆ  การดิ้นรนทำงานของชาวนาอีสานในสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครอบครัว  นอกจากนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น ในด้านการตั้งถิ่นฐาน  ธรรมชาติ  สภาพแวดล้อม                   ธรรมเนียม ประเพณี  ศาสนา  ความเชื่อ และคติชีวิตของชาวอีสาน

ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องโดยแบ่งเป็น ๙๐ ตอน แต่ละตอนมีชื่อที่สะท้อนเนื้อหา มีสารบัญ และมีบท  “ที่มาของเรื่องเล่า” ท้ายเล่ม  อธิบายคำสำคัญของหนังสือ เช่น ทางเกวียน  หมู่บ้าน  เล้าข้าว คอกควาย  ลานบ้าน  โคกและป่า  ทุ่งนา  จารีต ฮีต  คอง

สำนวนภาษาที่ใช้มี ๒ ลักษณะคือ ภาษาไทยมาตรฐาน ใช้ในการบรรยายสิ่งต่าง ๆ  และภาษาถิ่น ใช้ในบทสนทนาระหว่างตัวละคร  ซึ่งการใช้ภาษาถิ่นแม้ว่าจะสร้างความสมจริงและให้ความรู้ด้านภาษา  แต่ก็ทำให้ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาอีสานยากที่จะเข้าใจเนื้อความได้ครบถ้วน

อย่างไรก็ตามด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน สาระที่น่าสนใจ และแตกต่างจากหนังสือแนวชนบทอีสานเรื่องอื่น ๆ  ทำให้หนังสือเรื่อง “ฮัก ฮีต ฮอย ลูกชาวนาอีสาน” เป็นหนังสือที่มีคุณค่าและน่าอ่านเรื่องหนึ่ง