รวมบทกวี รากของเรา เงาของโลก ของสุขุมพจน์  คำสุขุม ประกอบไปด้วย บทกวีจำนวน 40 บท เนื้อหาแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรก “รากของเรา” และภาคสอง “เงาของโลก”

ภาคแรก  “รากของเรา” ผู้ประพันธ์นำเสนอวิถีชีวิตพื้นถิ่นบ้านเกิดภาคอีสาน  ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดในครอบครัวและบรรพบุรุษ ที่แม้จะต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิต แต่มีความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งยังคงเป็นความสุขในความทรงจำ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันของไททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไทอีสาน ไทลาวและเผ่าไทในดินแดนอื่น ๆ วิถีชีวิตชาวนาในชนบทอีสานแม้จะต้องเผชิญอุปสรรคนานาประการ แต่การต่อสู้ชีวิตก็เป็นแนวทางที่บรรพบุรุษและหัวหน้าครอบครัวปลูกฝังให้ลูกหลานสืบต่อกันมาดุจรากเหง้าของเผ่าพันธุ์ที่หยั่งลึกท่ามกลางวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นสุขด้วยอาหารพื้นถิ่นอีสาน เช่น ปลาแดก และข้าวจี่ ซึ่งผูกร้อยสายสัมพันธ์ของผู้คนร่วมแผ่นดินถิ่นเกิด

ภาคที่สอง “เงาของโลก” ผู้ประพันธ์นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เข้าสู่โลกาภิวัฒน์ สื่อร่วมสมัย เช่น เฟสบุ๊ค อินเทอร์เน็ต เปลี่ยนวิถีของคนไทย ซึ่งดูเหมือนใกล้ชิดแต่ไกลห่างทางความรู้สึกและความเข้าใจ ช่องว่างในสังคมเมืองที่มีผู้ที่เสพสุขอย่างล้นเหลือ รวมถึงผู้พิการที่เข้ามาขอทานเพื่อหาเลี้ยงชีวิต การอพยพเข้ามาอยู่เมืองหลวงของชาวอีสานจึงมิได้นำมาซึ่งความสุข แต่กลับเป็นพิษภัย

“กรุงเทพฯ เป็นกรุงท่วม

อาบทุกข์อ่วมนครอัน-

สูงเด่นเป็นสวรรค์

จะซบหน้าลึกบาดาล”

ผู้ประพันธ์ยังเสนอไว้ในบท “ความสุขมวลรวมฉบับสามัญชน”  ว่าความสุขที่แท้จริง คือ ชีวิตที่เรียบง่าย พอมีพอกินในชนบท ความเอื้ออาทรเจือจานซึ่งกันและกัน การรู้จักอยู่และรู้จักประมาณตน ในทัศนะของผู้ประพันธ์ จี.ดี.พี จึงหมายถึง “จึงดีพอ” สำหรับชนชั้นสามัญชน