ปัญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุนับเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่เกิดในสังคมที่วิทยาการด้านสาธารณสุขมีความเจริญก้าวหน้าอย่างสูง   คนอายุยืนขึ้นทำให้ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น   และในขณะเดียวกันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว  ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น  ลูกแต่งงานแล้วแยกย้ายจากครอบครัวของพ่อแม่ออกไปสร้างครอบครัวใหม่ของตนเอง  ทำให้การดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุท้าทายสำนึกความคิดและการตัดสินของผู้เป็นลูก

นวนิยายเรื่องยิ่งฟ้ามหานที ของกนกวลี  พจนปกรณ์  นำเสนอปัญหาเหล่านี้ไว้อย่างเข้มข้นผ่านเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่มีแม่เป็นอัมพาตครึ่งซีกเพราะเส้นโลหิตในสมองแตก   กำไลแก้วลูกสาวคนสุดท้องซึ่งยังเป็นโสดเป็นผู้ดูแลแม่เพราะพี่น้องคนอื่นต่างมีภาระเรื่องครอบครัวของตน  ครอบครัวนี้ไม่มีปัญหาด้านการเงินที่ต้องใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลแม่ผู้เจ็บป่วย เพราะพี่ ๆ มีฐานะมั่งคั่งจึงยินดีรับภาระค่าใช้จ่ายทุกอย่างซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก   แต่ทิ้งภาระการพยาบาลดูแลเป็นของน้องสาว  กำไลแก้วมีงานทำในบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง  และกำลังตกหลุมรักชายคนหนึ่งอย่างจริงจัง  การดูแลแม่ซึ่งเจ็บป่วยทางกายยังไม่หนักหนาเท่ากับการดูแลจิตใจที่เปราะบาง  เพราะร่างกายที่เจ็บป่วยพลอยทำให้จิตใจของนางอุบลป่วยไข้ไปด้วย   นอกจากควบคุมระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่ได้แล้ว  นางยังควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้  และเรียกร้องให้กำไลแก้วอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา  กำไลแก้วจึงอยู่ในภาวะถูกกดดันจากแม่  จากคนรัก  และจากความเข้มงวดของเจ้าของบริษัท  ดังนั้น  โครงการพาแม่ไปอยู่ที่สถานพยาบาลที่พี่ ๆ เคยนำเสนอจึงถูกรื้อฟื้นมาทบทวนกันใหม่อีกครั้ง  และในที่สุดลูก ๆ ทุกคนเห็นพ้องว่าการที่แม่อยู่ในสถานพยาบาลเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะแม่จะได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลตลอดเวลา  ส่วนลูก ๆ จะได้ดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระ  แต่หลังจากนั้นกำไลแก้วก็พบว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด

นวนิยายเรื่องนี้แสดงความขัดแย้งในใจของตัวละครผู้เป็นแม่และผู้เป็นลูกโดยเฉพาะกำไลแก้วที่เป็นตัวเอกของเรื่องจนทำให้ผู้อ่านสะเทือนอารมณ์อย่างยิ่ง   ความรักของแม่ที่ไม่อยากให้ลูกลำบากกายลำบากใจ

และความรู้สึกผิดในใจของลูกที่ไม่ทุ่มเทเสียสละอย่างเต็มที่เพื่อแสดงความรักและความกตัญญูต่อแม่   เชือดเฉือนใจผู้อ่านให้แทบน้ำตารินไปพร้อมกับตัวละคร   ผู้เขียนใช้ภาพเปรียบเทียบครอบครัว  2 ครอบครัวที่มีปัญหาการดูแลคนในครอบครัวที่เป็นอัมพาตเหมือนกัน  ครอบครัวของอมาตย์ดูแลพี่ชายที่เป็นอัมพาตด้วยความรักความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต   ทุกคนดีใจที่มีโอกาสมอบความรักให้คนที่ตนรักได้อย่างเต็มที่   ไม่ต้องเสียใจหรือเสียดายภายหลัง    ส่วนครอบครัวของกำไลแก้วให้แม่ไปอยู่สถานพยาบาลที่เลือกเฟ้นอย่างดี   แต่เมื่อกำไลแก้วรับรู้และมองเห็นสายใยแห่งความรักที่อวลอุ่นอยู่ในบ้านของอมาตย์ก็ทำให้กำไลแก้วมีกำลังใจ  และมองเห็นหนทางคลี่คลายปัญหาของตนเพื่อที่จะได้ดูแลแม่อย่างใกล้ชิดที่บ้านตลอดไป

ยิ่งฟ้ามหานทีเป็นนวนิยายสะท้อนสังคมที่เสนอให้เห็นว่าแม้การส่งบุพการีผู้ชราและเจ็บป่วยไปอยู่สถานพยาบาลจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่สะดวกสำหรับคนในสังคมไทยปัจจุบัน   แต่น่าจะเป็นเพียงทางเลือกสุดท้าย  เพราะแท้ที่จริงแล้วผู้เป็นลูกยังมีทางออกที่งดงามอยู่  ขอเพียงแต่ยึดมั่นในความรักต่อพ่อแม่   ยอมเสียสละความสุขส่วนตนเพราะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะได้ตอบแทนความรักอันยิ่งใหญ่ของบุพการี

ด้วยคุณค่าด้านเนื้อหา ความคิด และกลวิธีทางวรรณศิลป์ นวนิยายเรื่องยิ่งฟ้ามหานที จึงได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2551