กวีนิพนธ์ชุด ขณะเดินทางใน ของ วัฒนา ธรรมกูร เป็นงานฉันทลักษณ์ที่สร้างสรรค์ในรูปแบบกาพย์ยานี 11 ตลอดทั้งเล่ม โดยแบ่งเป็น 3 บรรพ ตามลำดับดังนี้ บรรพ 1 คราเริ่มต้น บรรพ 2 ด้นทางตัน บรรพ 3 ผ่านพ้นไป ซึ่งเป็นคำคล้องจองเช่นเดียวกับตัวบทที่สัมผัสรับเชื่อมร้อยต่อเนื่องกันไปทุกบทตั้งแต่ต้นจนจบรวมทั้งสิ้น 232 บท

เนื้อหาหรือความงาม “ขณะเดินทางใน” สะท้อนภาวะการเข้าถึงธรรม การสำรวจใจตน ค่อย ๆ ปล่อยวาง ไม่ยึดติด แล้วถ่ายทอดความสงบงามออกสู่ภายนอกผ่านบทกวี ผู้เขียนสามารถนำหลักธรรมคำสอนซึ่งคนทั่วไปอาจเข้าถึงยากมาย่อยมาต่อยอดด้วยการสกัดเป็นภาษาง่าย ๆ จนผู้อ่านเห็นเป็นเรื่องใกล้ตัว กลมกลืนกับวิถีชีวิต เพราะบทกวีมีความเป็นธรรมชาติ อ่านแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดพลังบวก เกิดแรงบันดาลใจ มีกำลังใจที่จะทำสิ่งดี ๆ ต่อตนเองและสังคม

ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งอยู่ตรงที่กวีเลือกคำง่าย ๆ มาใช้ แต่เล่นคำสัมผัสอักษรอย่างเป็นเอกภาพกลมกลืนกับเนื้อหา จึงทำให้มีพลังทางวรรณศิลป์ มีเสน่ห์ อ่านแล้วรู้สึกอิ่มเอิบ อีกทั้งสอดคล้องและเหมาะกับสังคมปัจจุบันที่มีความเชี่ยวกรากสับสนวุ่นวายแทบทุกมิติ

กี่ครั้งกี่เคว้งคว้าง         กี่เส้นทางกี่คำถาม        

กี่หนาวกี่ร้อนนาม          กี่นิยามกี่หยัดยืน

ล้วนต้องใช้สติ             ไตร่และตรองให้รู้ตื่น     

จึงคล้อยวันและคืน       ชื่นกมลสืบเนื่องมา”

และ

“ไม่ถือก็ไม่ทุกข์             ไม่ฟื้นปลุกก็ว่างเปล่า    

เวลาคล้อยทุเลา           ใช่ไหมเล่าผ่านล่วงเลย”

ดังนั้น หนังสือรวมบทกวี ขณะเดินทางใน ของ วัฒนา ธรรมกูร จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2562