เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่นเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนปัญหาอันหลากหลายของสังคมเมือง ทั้งปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ ครอบครัว การศึกษา วิกฤตทางจิตใจและทางปัญญาของคนในสังคม ผู้แต่งเสนอให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย และเกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทย ปัญหาที่รุมเร้าผูกโยงอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่นี้ส่งผลในด้านลบต่อเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต

ผู้แต่งนำเสนอเนื้อหาได้อย่างเข้มข้นผ่านการใช้นิทานเปรียบเทียบ และการใช้สัญลักษณ์ ก่อให้เกิดเอกภาพด้านเนื้อหาและกลวิธีการประพันธ์ ความหฤหรรษ์จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ได้จากการอ่านสองระดับ คือ ระดับการอ่านในฐานะที่เป็นนิทานสมัยใหม่ และระดับที่ต้องตีความสารอันซับซ้อนและลุ่มลึก แต่ไม่ว่าจะอ่านในระดับใดก็ตาม เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่นก็เป็นวรรณกรรมที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบการประพันธ์