บ้านในหมอก ของ สุขุมพจน์ คำสุขุม เป็นรวมบทกวี  39 บทเรื่อง แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคแรก บ้านในหมอก นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของแผ่นดินถิ่นเกิดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่อดีต เปรียบเสมือนกองเกวียนโบราณที่บรรพบุรุษได้ลงหลักปักฐานในผืนแผ่นดิน  วิถีชีวิตชนบทในสมัยที่ดินยังดำ น้ำยังชุ่ม   โลกสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคของเทคโนโลยี ทุนนิยมและบริโภคนิยมทำให้วิถีชีวิตคนชนบทเปลี่ยนแปลงด้วยเมฆหมอกของความศิวิไลซ์อันเป็นมายาคติทำให้ชาวชนบทอพยพมาศึกษาเล่าเรียนบ้าง ทำงานบ้าง ด้วยสำคัญผิดว่าคือความสุขแบบใหม่ จากกองเกวียนโบราณจึงกลายเป็นกองเกวียนจักรกล       ยนตรกรรม  แท้จริงชีวิตในเมืองซึ่งเต็มไปด้วยตึกระฟ้าไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า  ผู้ประพันธ์นำเสนอรูปธรรมของชีวิตชาวอีสานไม่ว่าจะเป็นเด็กสาวหรือคนขับแท็กซี่ที่มีวิถีชีวิตยากลำบากและจบชีวิตลงเพราะความพลาดหวัง ความยากแค้นและอาชญกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมทางเพศ

ในภาคหลัง หมอกในบ้าน  ผู้ประพันธ์นำเสนอปัญหาในสังคมไทยที่เปรียบเสมือนเมฆหมอกทั้งในระดับครอบครัวและระดับสังคม    ในระดับครอบครัวความห่างเหินเพราะห่างไกลกันของคนในครอบครัว ชาวชนบทต้องเข้ามาทำงานในเมือง การพูดคุยไถ่ถามทางโทรศัพท์ดูเหมือนจะเป็นวิธีการเดียวในการแสดงความรักและความห่วงใยระหว่างกัน          ในระดับสังคม  ความรุนแรงทางภาคใต้ที่คร่าชีวิตหนุ่มชนบทหนุ่มอีสานบางคนต้องไปเป็นทหารที่ภาคใต้และต้องจบชีวิตลง กลับบ้านด้วยร่างที่ไร้วิญญาณ    หมอกควันในสังคมอีกประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งของผู้คนในสังคมที่แบ่งแยกแตกต่างทางความคิดกลายเป็น “บาดแผลของชาติ” ที่ผู้ประพันธ์ เรียกร้องให้ละทิ้งเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อความสงบสุขในสังคม

ด้านศิลปะการประพันธ์ ผู้ประพันธ์ใช้กลอนสุภาพเป็นส่วนใหญ่ มีกลวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจด้วยการนำเสนอเนื้อหาเป็น 2 ภาค มีการนำเสนอเรื่องราวและปัญหารวมทั้งเสนอทัศนะและการแก้ปัญหารวมทั้งเสนอทัศนะด้วยการใช้หมอกเป็นภาพพจน์เปรียบเทียบซึ่งมีความหมายหลายนัย   ด้านการเล่าเรื่องใช้การเล่าเรื่องแบบเรื่องสั้น  ยกรูปธรรมของชีวิตปัจเจกบุคคลแทนการเสนอแนวคิดอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งใช้ภาษาพูดและบทสนทนาดำเนินเรื่องทำให้สามารถนำเสนอเรื่องราวที่ดูจะหนักด้วยสาระและแนวคิดได้น่าอ่าน ชวนคิดและชวนติดตาม